*

วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555

กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้รังสรรค์ เพลงแขกมอญบางขุนพรหม

"ขับลำนำบรรเลงเป็นเพลงเถา
เพลงมอญเก่าไพเราะเพราะหนักหนา
ชื่อแขกมอญบางขุนพรหมนามสมยา
ฉันได้มาจากวังบางขุนพรหม"
(พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต )

       สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์  กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประสูติในพระบรมมหาราชวัง ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี   ทรงสนพระทัยดนตรีไทยมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์มีพระฉายาลักษณ์ ทรงซออู้ร่วมบรรเลงดนตรีมาตั้งแต่ก่อนที่จะเสด็จไปศึกษาในทวีปยุโรป 
      
       ทรงสร้างพระตำหนักเรือนหอเป็นตำหนักไม้สัก ๓ ชั้น ขึ้นที่วังบางขุนพรหม เมื่อครั้งทรงเสกสมรสด้วย ม.จ.หญิงประสงค์สม ไชยันต์ ราวพ.ศ. ๒๔๔๖
       ในงานขึ้นพระตำหนักนั้นได้มีการฉลองและบรรเลงดนตรีเป็นงานใหญ่ เมื่อทรงสร้างวังบางขุนพรหมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทรงย้ายไปประทับที่ตำหนักใหญ่ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙

        ประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๒ เสด็จไปควบคุมงานก่อสร้างพระราชวังบ้านปืน จังหวัดเพชรบุรี (เพื่อเป็นวังที่ประทับพักผ่อนของรัชกาลที่ ๕)  ระหว่างที่ควบคุมการก่อสร้าง ได้ทรงนิพนธ์เพลงแขกมอญบางขุนพรหม ขึ้น โดยทรงบอกทำนองเพลงประทานให้เรือโทขุนประสานดุริยางค์ (สุทธิ์) จดลงเป็นโน้ตสากลไว้จนครบเป็นเพลงเถา
         เมื่อเสด็จกลับมาได้ประทานให้กองแตรวงทหารเรือบรรเลงเป็นปฐมฤกษ์ โดยมีนางเจริญ  พาทยโกศล เป็นผู้เลือกบทและสร้างทางขับร้อง   นางเจริญจึงถือได้ว่าเป็นผู้ขับร้องเพลงนี้เป็นคนแรก 

         โน้ตต้นฉบับเพลงแขกมอญบางขุนพรหมทางที่หนึ่ง  ซึ่งยังไม่ได้ใส่เสียงประสานอย่างสมบูรณ์นั้น ยังเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีที่กองดุริยางค์ทหารเรือ 

         จนถึง พ.ศ. ๒๕๒๔  เรือเอกสราญ  เรืองณรงค์  ได้นำมาบรรเลงในงานบันทึกเสียงฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี พระชนมายุ (บันทึกเสียงที่ศาลาดุสิดาลัย)  เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่าโน้ตเพลงแขกมอญบางขุนพรหมที่แยกเสียงประสานใหม่อีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีความไพเราะยิ่งกว่าที่ทรงเริ่มทำไว้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เพียงใด
          สำหรับทางบรรเลงปี่พาทย์นั้น จางวางทั่วเป็นผู้ปรับทางจากโน้ตสากลทางแตรวง มาบรรเลงด้วยวงปี่พาทย์และมโหรี

          ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทูนกระหม่อมบริพัตร ดำรงตำแหน่ง อภิรัฐมนตรี และเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ประทับที่วังบางขุนพรหมมาจนถึงเดือนกรก
ฎาคม ๒๔๗๕  ได้ถูกคณะราษฎร์เชิญเสด็จไปประทับและกักพระองค์ไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นเวลา ๙ วัน และทูลขอให้เสด็จออกไปประทับต่างประเทศ โดยขอพระราชประทานวังบางขุนพรหมทั้งอาคาร และที่ดินทั้งหมดให้ตกเป็นของรัฐบาลใหม่ ที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น 
          จึงได้เสด็จออกจากวังบางขุนพรหมแล้วไปประทับที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย  เป็นเวลานานถึง  ๑๒ ปี  ซึ่งระหว่างประทับที่นั่นได้ทรงพระนิพนธ์บทเพลงเถาขึ้นเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก

          ทูนกระหม่อมบริพัตร สิ้นพระชนม์ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๗ พระศพได้ถูกฝังไว้ที่เมืองบันดุงนั้น เป็นเวลา ๔ ปี 

           จนถึง พ.ศ. ๒๔๙๑ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามจึงได้ยินยอมให้อัญเชิญ พระศพกลับมากรุงเทพฯ ทางเรือบินทหารของดัชท์  ต่อมาได้จัดงานพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง 
ต่อจากงานพระเมรุของพระบาทสมเด็จพระพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
พระองค์ทรงได้รับการขนานพระนามเป็น "พระบิดาแห่งเพลงไทยเดิม"


*(คลิ้ก)     เพลงแขกมอญบางขุนพรหมเป็นเพลงไทยเดิมสำเนียงแขกปนมอญ ซึ่งแต่ดั้งเดิมมีเพลงแขกมอญและเพลงแขกมอญบางช้าง ๒ ชั้น ทำนองเก่ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนกลางจึงเกิดเพลงแขกมอญบางขุนพรหมขึ้นอีกเพลงหนึ่ง แขกมอญบางขุนพรหมเป็นเพลงเถา (ประกอบด้วยเพลงอัตราจังหวะ ๓ ชั้น (ช้า) ๒ ชั้น (ปานกลาง) และชั้นเดียว (เร็ว) บรรเลงติดต่อกันตามลำดับ) 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงพระนิพนธ์เพลงแขกมอญบางขุนพรหมขึ้นจากเพลงมอญเก่าอัตราจัง­หวะสองชั้นชื่อเพลงมอญตัดแตง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ ตั้งชื่อว่า "แขกมอญบางขุนพรหม" เพราะแต่งตามตามแบบแผนของเพลงแขกมอญ คือ เพลงมี ๓ ท่อน ทำนองของเพลงต้องสอดแทรกสำเนียงมอญ และในจังหวะสุดท้ายของแต่ละท่อนต้องมีทำนองซ้ำกัน ส่วน "บางขุนพรหม" เป็นวังที่ประทับของพระองค์


ครูเพลงเพลงไทยสากลหลายท่านนำทำนองเพลงแขกมอญบางขุนพรหมไปใส่่เนื้อร้องใหม่ ซึ่งก็ได้ผลงานเพลงที่ไพเราะทุกเพลง อาทิ เพลงพรพรหม ของวงสุนทราภรณ์










New Page 1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น